วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แนะนำสื่อการสอนศิลปะการแกะสลักผักผลไม้




สื่อการสอนศิลปะการแกะสลักผักผลไม้


การแกะสลักผักและผลไม้  เป็น งานศิลปะดั้งเดิมของไทย แขนงหนึ่งที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าสืบทอดกันมาช้านานของไทย พบเห็นได้ตามงานจัดเลี้ยง การจัดโต๊ะอาหาร รวมถึง ร้านอาหาร ภัตตาคารต่าง ๆ โดยจะประดับประดา ผัก ผลไม้ แกะสลักไว้ เพื่อตกแต่งให้เกิดความสวยงาม บ้างก็นำมาเป็นส่วนหนึ่งของภาชนะเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร สร้างบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์ให้กับมื้ออาหารมื้อนั้นได้เป็นอย่างดี

ศิลปะการแกะสลักผักและผลไม้  นั้น เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความถนัด ความสามารถเฉพาะตัว และความละเอียดอ่อนมาก การแกะสลักจึงเป็นศิลปะที่ไม่มีวันตาย สามารถ นำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ ปัจจุบันชาวต่างชาติ ให้ความสนใจศิลปะการแกะสลักมาก ดังนั้น คนไทยทุกคนควรหันมาให้ความสนใจศิลปะแขนงนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ และช่วยสืบทอดศิลปะ อันงดงามของไทย ให้คงอยู่ตลอดไป

ขอแนะนำ สื่อการสอนศิลปะการแกะสลักผักผลไม้ เป็นสื่อการสอนที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจงานฝีมือ ศิลปะ การแกะสลัก โดยรวบรวมวิธีการแกะสลัก อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ในชุดประกอบด้วยหนังสือ 1 เล่ม พร้อมวิดีโอซีดีประกอบการเรียนอีก 3 แผ่น

รายละเอียดหนังสือ

  • ผู้เขียน:  พันจ่าเอกดำรงศักดิ์ นิรันต์
  • สำนักพิมพ์:  เอ็มไอเอส ซอฟท์เทค, บจก.
  • จำนวนหน้า:  48 หน้า
  • รูปแบบ:  ปกอ่อน พิมพ์ ขาวดำ
  • ขนาดรูปเล่ม:  185 x 250 x 6 มม.
  • น้ำหนัก:  200 กรัม
  • ISBN:  978-974-923-992-6

เนื้อหาภายใน VCD ประกอบด้วย

เนื้อหาแผ่นที่ 1:

  • แนะนำตัว
  • แนะนำอุปกรณ์
  • ขั้นตอนการแกะกลีบ
  • ดอกพุกตุ่มเกสรล้วน
  • ดอกพุกคว้านผสมกลีบดอกโค้งหยัก

เนื้อหาแผ่นที่ 2:

  • ดอกพุกตุ่มผสมกลีบดอกรักเร่
  • ดอกกุหลาบบานแย้ม
  • ดอกกุหลาบบานงุ้ม

เนื้อหาแผ่นที่ 3:

  • ดอกคาร์เนชั่น
  • แกะสลักผักและผลไม้
  • การแกะสลักสบู่
  • สรุปจบ

จำหน่ายในราคาพิเศษ204.00บาท  ปกติ  240.00 บาท  ประหยัดทันที  36.00 บาท สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือสั่งซื้อได้ตามปุ่มด้านล่าง



สั่งซื้อสินค้า



วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มาลัย หรือ พวงมาลัย




ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมาลัย หรือ พวงมาลัย


ประวัติความเป็นมาของมาลัย

บรรพบุรุษของไทยเรามีชื่อเสียงในงานด้านศิลปะการประดิษฐ์อย่างมากมาย โดยเฉพาะการประดิษฐ์ตกแต่งพวงดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้ และวัสดุอื่น ๆ เป็นที่ขึ้นชื่อมานานแต่โบราณกาลแล้ว

มาลัย  หมายถึง ดอกไม้ประดิษฐ์แบบไทยลักษณะหนึ่ง โดยการนำดอกไม้ ใบไม้ กลีบดอกไม้และส่วนต่าง ๆ ของดอกไม้ ใบไม้ ที่ร้อยได้ มาร้อยเป็นพวง มีลักษณะต่าง ๆ กันมากมายหลายแบบ ตั้งแต่เดิมจนถึงแบบสมัยใหม่ ซึ่งได้ดัดแปลงมาจากแบบดั้งเดิมนั้นเอง

ในสมัยรัตนโกสินทร์ทุกรัชกาล งานฝีมือด้านการประดิษฐ์ดอกไม้เป็นที่นิยมนำมาประดิษฐ์ในงานต่าง ๆ แทบทุกงาน โดยเฉพาะงานพิธีต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 นิยมการทำดอกไม้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีงานพระราชพิธีใด ๆ เจ้านายฝ่ายในจะต้องประกวดกันจัดแต่งดอกไม้มาถวายให้ทรงใช้ในงานนั้น ๆ เสมอ สมเด็จพระพันปีหลวง ได้ทรงคิดร้อยมาลัยด้วยดอกไม้ต่าง ๆ และใช้ใบไม้แทรกนำ ทำให้มีลวดลายต่าง ๆ กันอย่างงดงาม และพลิกแพลงทำรูปต่าง ๆ กัน

ในงานพระศพสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินมาตาซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระองค์นี้ พระบรมศพประดิษฐานอยู่ ณ วังสะพานถ่าน (คือตลาดบำเพ็ญบุญเวลานี้) สมเด็จพระพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ ให้ท้าววรคณานันท์ (ม.ร.ว. ปั้ม มาลากุล) จัดทำมาลัยไปประดับพระศพตลอดงานนี้ มาลัยที่ตกแต่งเปลี่ยนสี เปลี่ยนรูป เปลี่ยนแบบเรื่อย ๆ มาจึงนับได้ว่าตั้งแต่บัดนั้นการร้อยมาลัยได้มีการวิวัฒนาการก้าวหน้ากว่าเดิมเป็นต้นมาหลายรูปแบบ และในระหว่างนั้น ท่านเจ้าคุณประยูรวงศ์ ก็ได้จัดทำมาลัยครุยขึ้นมา ท้าววรคณานันท์เป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นเจ้าของมาลัยงามหลายแบบและความรู้ความชำนาญในเรื่องร้อยมาลัยนี้ก็ได้สืบต่อมาจนถึง ม.ล. ป้อง มาลากุล ผู้ซึ่งมีความสามารถในเรื่องการทำดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง

ประเภทของมาลัย


แบ่งตามหน้าที่ใช้สอย

  1.  มาลัยชายเดียว หมายถึง มาลัยที่มีลักษณะเป็นพวงกลม มีอุบะห้อยเป็นชายเพียงพวงเดียว ซึ่งบางคนอาจเรียกว่า “มาลัยมือ มาลัยคล้องมือ หรือมาลัยคล้องแขน” ก็ได้ ถ้าใช้ในการทูลเกล้าถวาย ก็เรียกว่า "มาลัยข้อพระกร" มาลัยชายเดียวนี้ใช้สำหลับคล้องแขนหรือบูชาพระ
  2.  มาลัยสองชาย หมายถึง มาลัยที่นิยมผูกต่อริบบิ้นหรือโบว์ทั้งสองชาย และมีอุบะห้อยชายมาลัย ทั้งสองพวงมาลับสองชายนี้ใช้สำหรับคล้องคอบุคคลสำคัญในงานนั้น ๆ ใช้แขวนหน้ารถหรือหัวเรือก็ได้ บางคนอาจเรียกมาลัยชนิดนี้ว่า “มาลัยคล้องคอ” ถ้าใช้คล้องคอเจ้าบ่าว เจ้าสาว ก็เรียกว่า มาลัยบ่าว-สาว
  3.  มาลัยชำร่วย หมายถึง มาลัยขนาดเล็ก น่ารัก กระจุ๋มกระจิ๋ม สำหรับมอบให้บุคคลจำนวนมาก เป็นของชำร่วย ตอบแทน การขอบคุณที่มาร่วมในงานนั้น ๆ

แบ่งตามรูปแบบของการร้อย

  1.  มาลัยซีก หรือเสี้ยว หมายถึง มาลัยที่ร้อยตามขวางเพียงครึ่งวงกลม
  2.  มาลัยกลม หมายถึง มาลัยที่ร้อยตามขวางเป็นวงกลม ตามยาวไปตลอดเข็ม
  3.  มาลัยแบน หมายถึง มาลัยที่มีรูปทรงตามขวาง เป็นรูปยาวตามกลีบ ปลายกลีบของด้านตรงข้ามยาวประมาณจดแนวเส้นรอบวงแต่ปลายกลีบของด้านขวางและด้านตรงข้ามแคบ
  4.  มาลัยรี หมายถึง มาลัยที่มีรูปทรงตามขวาง เป็นรูปรูปทรงตามยาวขึ้นไปตลอดเข็ม
  5. . มาลัยสามเหลี่ยม หมายถึง มาลัยที่มีรูปทรงตามขวาง เป็นรูปสามเหลี่ยม
  6.  มาลัยสี่เหลี่ยม หมายถึง มาลัยที่มีรูปทรงตามขวาง เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้าน
  7.  มาลัยตุ้ม หมายถึง มาลัยที่มีรูปทรงตามขวางเป็นรูปวงกลมขนาดเล็กแล้วค่อย ๆ ใหญ่ตรงกลาง หัวท้ายเรียว ช่วงกลางโค้งมน
  8.  มาลัยตัวหนอน หมายถึง มาลัยที่มีลักษณะคล้ายมาลัยตุ้มแต่ยาวกว่า
  9.  มาลัยตัวหนอนคู่ หมายถึง มาลัยที่มีลักษณะเหมือนมาลัยตุ้ม 2 ตุ้มร้อยต่อกัน
  10.  มาลัยสามกษัตริย์ หมายถึง มาลัยที่ร้อยด้วยดอกบานไม่รู้โรยเป็นชั้น ๆ คล้องต่อกันสามวง
  11.  มาลัยพวงดอกไม้ หมายถึง มาลัยที่ร้อยด้วยดอกไม้เรียงต่อกันเป็นสายยาว ผูกกันเป็นวง

แบ่งตามลักษณะโครงร่าง

  1.  มาลัยตัวสัตว์ หมายถึง มาลัยที่ร้อยให้เป็นรูปร่างสัตว์ เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี ฯลฯ
  2.  มาลัยลูกโซ่ หมายถึง มาลัยที่ร้อยจากมาลัยกลมหรือมาลัยซีก นำมาคล้องต่อกันเป็นวงคล้องโซ่
  3.  มาลัยเปีย หมายถึง มาลัยที่ร้อยจากมาลัยกลมและตุ้ม มาประกอบเป็นพวง โดยเอามาลัยกลมผูกเป็นวงตรงกลาง บนและล่างต่อด้วยตุ้มด้านละ 1 ตุ้ม
  4.  มาลัยครุย หมายถึง มาลัยที่ร้อยจากมาลัยกลมขนาดใหญ่ มีอุบะตุ้งติ้งห้อยระบายเป็นครุยโดยรอบ
  5.  มาลัยดอกกล้วยไม้ หมายถึง มาลัยที่ร้อยด้วยดอกกล้วยไม้ล้วน ๆ เป็นส่วนตัวของมาลัย

แหล่งข้อมูล

Somvalee Kijchvee และ pirun.ku.ac.th. ข้อมูล, อินเตอร์เน็ต ภาพ





วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การเตรียมตัวก่อนอุปสมบท




การเตรียมตัวก่อนอุปสมบทเป็นพระสงฆ์


การบวชเรียนถือเป็นสิ่งที่ลูกผู้ชายไทย เมื่ออายุครบเกณฑ์แล้วพึงกระทำ เสมือนเป็นการตอบแทนพระคุณบิดามารดา หรือผู้ที่ชุบเลี้ยงเรามา อย่างที่โบราณกล่าวว่า "ถ้าได้บวชลูกชาย พ่อแม่จะสามารถเกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์ได้" ถือเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่

สำหรับผู้ที่ต้องการบวชจะต้องมีการเตรียมตัวก่อน เพื่อให้พิธีในขั้นตอนต่างๆ เสร็จสิ้นได้อย่างสมบูรณ์ ตามพระวินัยบัญญัติไว้ มาดูกันว่าการเตรียมตัวต่างๆ เหล่านั้นมีอะไรกันบ้าง

ฝึกท่องคำขอบรรพชาอุปสมบท (คำขานนาค)

ผู้จะบวชเรียกว่า อุปสัมปทาเปกข์ หรือ นาค ต้องท่อง คำขอบรรพชาอุปสมบทภาษาบาลี หรือ ที่เรียกกันว่า ขานนาค ให้คล่องเพื่อใช้ในพิธี โดยบทขานนาคจะมี 2 แบบ คือ เอเตมะยังภันเต กับ เอสาหังภันเต แล้วแต่วัดที่จะเราจะบวช (ธรรมยุติ หรือ มหานิกาย) ด้วยการหา หนังสือมนต์พิธี หรือ บทสวดมนต์เจ็ดตำนาน มาฝึกท่องจำคำสวดให้ขึ้นใจก่อน แล้วจึงไปฝึกสวดทบทวนกับพระอาจารย์ให้คล่องก่อนทำพิธีบวชอีกที

เตรียมเครื่องอัฏฐบริขารและเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็น

เครื่องอัฏฐบริขาร ได้แก่

  1.  ไตรครอง ได้แก่ สบง 1, ประคตเอว 1, อังสะ 1, จีวร 1, สังฆาฏิ 1, ผ้ารัดอก 1 ผ้ากราบ 1
  2.  บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา ถลกบาตร สายโยค ถุง ตะเคียว
  3.  มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีดโกน
  4.  เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
  5.  เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก)
  6.  เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
  7.  จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ 2 ผืน (ไตรอาศัย)
  8.  ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
  9.  โคมไฟฟ้า หรือตะเกียง ไฟฉาย นาฬิกาปลุก
  10.  สำรับ ปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ
  11.  ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ กาชงน้ำร้อน ถ้วยน้ำร้อน เหยือกน้ำและแก้วน้ำเย็น กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน
  12.  กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย
  13.  ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ
  14.  สันถัต (อาสนะ)
  15.  ฮี๋บไม้หรือกล่องเก็บสำหรับเก็บไตรครอง

หมายเหตุ: ข้อที่ 1-5 เรียกว่าอัฏฐบริขารซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ มีความหมายว่า บริขาร 8 แบ่งเป็นผ้า 5 อย่างคือ สบง 1 ประคตเอว 1 จีวร 1 สังฆาฏิ 1 ผ้ากรองน้ำ 1 และเหล็ก 3 อย่างคือ บาตร 1 มีดโกน 1 เข็มเย็บผ้า 1

เตรียมสิ่งของที่ต้องใช้ในพิธี

สิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ในพิธี ประกอบด้วย

  1.  ไตรแบ่ง ได้แก่ สบง 1 ประคตเอว 1 อังสะ 1 จีวร 1 ผ้ารัดอก 1 ผ้ากราบ 1
  2.  จีวร สบง อังสะ (อาศัยหรือสำรอง) และผ้าอาบ 2 ผืน
  3.  ย่าม ผ้าเช็ดหน้า นาฬิกา
  4.  บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา
  5.  รองเท้า ร่ม
  6.  ที่นอน เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง (อาจอาศัยของวัดก็ได้)
  7.  จานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ปิ่นโต กระโถน
  8.  ขันน้ำ สบู่ กล่องสบู่ แปรง ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
  9.  ธูป เทียน ดอกไม้ (ใช้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย)
  10.  ธูป เทียน ดอกไม้ *(อาจใช้แบบเทียนแพรที่มีกรวยดอกไม้ก็ได้ เอาไว้ถวายพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวช)

หมายเหตุ: อาจจะเตรียมเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์และพระในพิธีนั้นอีกรูปละหนึ่งชุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และศรัทธา

การขอขมาและลาบวช

ก่อนบวชต้องมีการขอขมากรรมกับ พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือ ผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ เพื่อให้ทุกท่านอโหสิกรรมในสิ่งที่เราได้กระทำไว้ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ด้วยการนำ พานธูปเทียนแพร หรือ ดอกไม้ธูปเทียน พร้อมกับกล่าวคำขอขมา เพื่อขออโหสิกรรมและลาบวช ซึ่งจะทำที่วัดหรือไปตามบ้านก็ได้ หลักใหญ่ๆ ของคำกล่าวขอขมาจะกล่าวว่า

"กรรมอันหนึ่งอันใดที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินท่านทั้งทางกาย วาจา ใจ โดยที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจทั้งที่รู้หรือไม่รู้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง โดยประมาทพลาดพลั้งต่อท่าน ขอได้โปรดอโหสิกรรมต่อข้าพเจ้าด้วย "

และ ให้ผู้ใหญ่กล่าวคำอโหสิ 3 ครั้ง

หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่พิธีอุปสมบทจริง กิจกรรมต่างๆ ต่อไป ก็จะขึ้นอยู่กับความจำเป็น และกำลังทรัพย์ เช่น การทำขวัญนาค การบวชนาค และแห่นาคเข้าสู่พระอุโบสถ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

เว็บไซด์ธรรมจักร. ข้อมูล และภาพ





วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พานพุ่ม สักการะ




เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พานพุ่ม สักการะ


ความหมาย

พานพุ่ม เป็นการนำคำนาม 2 คำ มาประสมกัน ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2543 ได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

  •  พาน หมายถึง ภาชนะพิเศษชนิดหนึ่ง สำหรับจัดสิ่งของมี ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น แล้วนำไปเป็นเครื่องสักการบูชา พระรัตนตรัย พระมหากษัตริย์ ครู อาจารย์ หรือผู้ที่เคารพนับถือเนื่องในโอกาสต่าง ๆ
  •  พุ่ม หมายถึง ลักษณะกิ่งก้านและใบของต้นไม้ที่รวมกัน หรือดอกไม้ที่นำมาจัดเป็นทรงพุ่ม มีลักษณะอย่างพนมมือ เช่น พุ่มดอกไม้ พุ่มทอง พุ่มเงิน หรือชื่อดอกไม้ไฟอย่างหนึ่ง หรือการนำดอกไม้มาเสียบกับซี่ไม้เป็นชั้นๆ มีลักษณะกลางพองเป็นรูปพุ่ม
  •  ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ คือ การนำข้าวสุกที่บรรจุในกรวยใส่ในพุ่มดอกไม้ ใช้ในการบูชา หรือ การเรียกลายอย่างหนึ่ง ซึ่งมีรูปลักษณ์เหมือนพุ่มข้าวบิณฑ์ บางครั้งเรียก ทรงข้าวบิณฑ์
  •  พานพุ่ม หมายถึง พานที่มีดอกไม้หรือวัสดุซึ่งช่างได้ประดิษฐืเป็นทรงพุ่มแล้วนำมาวางไว้ บนพาน อันถือเป็นเครื่องสักการะหรือบูชาชั้นสูงของไทย ที่ช่างประดิษฐ์ไทยได้นำดอกไม้ หรือ วัสดุต่าง ๆ มาคิดประดิดประดอยจัดทำขึ้น และจัดแต่งเป็นทรงพุ่ม แล้วนำมาวางไว้บนพาน เพื่อนำไปเป็นเครื่องบูชาหรือสักการะสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระรัตนตรัย พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรพบุรุษที่เคารพนับถือ อันเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและความจงรักภักดีในโอกาสต่าง ๆ

ประเภทของพานพุ่ม

พานพุ่มเทียน

1. พานพุ่มเทียน  คือ การนำเทียนไขมาหลอมแล้วเทลงในแบบที่เป็นทรงพุ่ม เมื่อได้รูปร่างเทียนที่เป็นทรงพุ่มแล้ว จะนำมาวางไว้บนพาน เรียกว่า พุ่มเทียน ซึ่งถือเป็นโบราณราชประเพณีที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้สืบสานมาโดยลำดับในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพุ่มเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา ของทุกปี


พานพุ่มดอกบานไม่รู้โรย

2. พานพุ่มดอกไม้สด หรือ พานพุ่มดอกไม้  คือ ช่างประดิษฐ์ดอกไม้ไทยได้นำดอกไม้สดได้แก่ ดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกจำปี ดอกบานไม่รู้โรย หรือ ดอกไม้อื่นๆ มาจัดแต่งเป็นทรงพุ่ม มีลักษณะคล้ายพนมมือ นำมาตั้งไว้บนพาน แล้วนำไปตั้งบูชาพระรัตนตรัย หรือนำไปวางเป็นเครื่อง สักการะ แล้วแต่กรณี


พานพุ่มผ้าตาดทอง ตาดเงิน

3. พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน  คือ การนำผ้าตาดทอง ตาดเงิน เป็นต้น มาประดิษฐ์ แล้วนำมา จัดแต่งประกอบกับวัสดุหรือโฟมเป็นทรงพุ่ม นำมาตั้งไว้บนพาน แล้วนำไปตั้งบูชาพระรัตนตรัย หรือ นำไปวางเป็นเครื่อง สักการะ แล้วแต่กรณี

การวางพานพุ่ม

การตั้งหรือการวางพานพุ่ม มีวัตถุประสงค์ของการตั้งหรือการวาง ๒ ประการ คือ

  1.  การตั้งหรือการวางพานพุ่ม เป็น เครื่องบูชา
  2.  การตั้งหรือการวางพานพุ่ม เป็น เครื่องสักการะ

การตั้งหรือการวางพานพุ่ม เป็น เครื่องบูชา

1. การตั้งหรือการวางพานพุ่มดอกไม้สด หรือดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นเครื่องบูชา ให้ประดิษฐานพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์หรือพระฉายาลักษณ์ ที่โต๊ะหมู่ตัวบน (ตัวสูงสุด) แล้ววาง พานพุ่ม ที่โต๊ะหมู่ตัวรองด้านข้างและด้านหน้าให้ครบจำนวนโต๊ะหมู่ที่ใช้จัดเป็นที่บูชา

2. การตั้งหรือการวาง พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน เป็น เครื่องบูชา ให้จัดตั้งหรือวางพานพุ่มทองไว้ ที่โต๊ะหมู่ตัวรองทางด้านขวาของพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระฉายาลักษณ์ และวางพานพุ่มเงินทางด้านซ้ายของพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระฉายาลักษณ์ โต๊ะหมู่ตัวรองด้านหน้าให้วาง พานพุ่ม ไว้อีก ๑ พุ่ม (ตามความเหมาะสม) ส่วนโต๊ะหมู่ตัวล่าง (ตัวที่ต่ำสุด) ให้วางกระถางธูป และเชิงเทียน หรือ พานกรวยดอกไม้ ธูปเทียนแพ หรือ เครื่องทองน้อย แล้วแต่กรณี

เครื่องทองน้อย

อนึ่ง สำหรับกรณีที่ พานพุ่มมีพู่ ในการวางเป็นเครื่องบูชาให้หันด้านที่เป็นพู่ออกมาทางด้านนอก (โดยให้พู่อยู่ทางด้านผู้วางหรือผู้ตั้ง)

การวางพานพุ่มเป็นเครื่องสักการะ

1. การวาง พานพุ่มดอกไม้สด เป็น เครื่องสักการะ ส่วนมากจะวางเพียง ๑ พาน หรือ ๑ คู่ ตามความเหมาะสม ดังนั้น จะมีการตั้งพานพุ่มบูชาไว้ที่โต๊ะหมู่ตัวรองตัวอื่นๆ ก่อน เพื่อเป็นการประดับให้มีความเรียบร้อยและสวยงาม แล้ว เว้นโต๊ะหมู่ตัวรองที่ตั้งอยู่ด้านหน้าไว้ ๑ คู่ (กรณีวาง พานพุ่มเป็นคู่ แต่ถ้าหากวางพานพุ่มเพียงพานเดียวก็จะเว้นโต๊ะหมู่ตัวรองด้านหน้าให้ว่างไว้) เพื่อเป็นการจัดเตรียมไว้ให้ประธานวางพานพุ่ม ในกรณีที่วางเป็นคู่ให้ประธานวางพานพุ่มทางด้านขวามือ ของประธานก่อน แล้วจึงวางพานพุ่มทางด้านซ้ายมือประธาน ส่วนโต๊ะหมู่ตัวล่าง หรือตัวต่ำสุดให้ตั้ง กระถางธูป เชิงเทียน หรือ พานกรวยดอกไม้ ธูปเทียนแพ หรือ เครื่องทองน้อย

ในกรณีวางพานพุ่มคู่ และให้วางพานพุ่มด้านขวามือของผู้วางก่อน แล้วจึงวางพานพุ่มทางด้านซ้ายมือ เนื่องจากวัฒนธรรมประเพณีของสังคมที่ปฏิบัติสืบสานกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ได้ให้ความสำคัญของการเวียนขวา เช่น เมื่อจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ให้กระทำทักษิณาวรรตก่อน ซึ่งเป็นการ แสดงความเคารพก่อนเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แม้ในปัจจุบันนี้ก็ได้ให้ความสำคัญทางขวามือเป็นหลัก ดังนั้น ในปัจจุบันเมื่อมีกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา ก็จะมีการเวียนเทียนรอบอุโบสถเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธองค์ อันเป็นการแสงความเคารพอย่างสูงสุดของศาสนิกชน

2. การวาง พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน ให้วาง พานพุ่มทอง ไว้ทางด้านขวามือของผู้วางก่อน แล้วจึงวาง พานพุ่มเงิน ทางด้านซ้ายของผู้วางเป็นลำดับต่อมา สำหรับ พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน ที่ใช้วางเป็น เครื่องสักการะ หรือเป็น เครื่องบูชา นั้น ไม่ควรใช้พานพุ่มที่มียอดเป็นฉัตร เนื่องจากฉัตร เป็น สัญลักษณ์ หรือ เครื่องอิสริยยศ ของสถาบันพระมหากษัตริย์

อนึ่ง สำหรับการวางพานพุ่มที่ใช้วางเป็นเครื่องสักการะ หากเป็นพานพุ่มที่มีพู่ ให้วางโดยหันพู่ไปในทิศทางที่ตั้งพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ หรือสิ่งที่ผู้วางต้องการสักการะอันเป็นการแสดงความเคารพ

แหล่งข้อมูล

"เอกสารวิชาการ" เรียบเรียง นายชวลิต ศิริภิรมย์ นักวิชาการศาสนา ๗ ว ฝ่ายพิธี กรมการศาสนา., เว็บไซด์ วิชาการ.คอม. ภาพ "พุ่มเทียน"





วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การจัดโต๊ะหมู่บูชา




การจัดโต๊ะหมู่บูชา


ความเป็นมา

การจัดโต๊ะหมู่บูชา เป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทยมาช้านาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด สันนิษฐานว่าเดิมอาจจะวางสิ่งเคารพ วัตถุมงคลบนหิ้ง หรือ บนแท่นมาก่อน ส่วนการจัดวางบนโต๊ะน่าจะได้แบบอย่างมาจากการตั้งโต๊ะน้ำชาของชาวจีนที่มาค้าขายกับไทยในสมัยก่อน

จากจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2391 ครั้งเมื่อ มีงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ก็มีการเริ่มจัดโต๊ะบูชาเป็นครั้งแรก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทางโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดจัดโต๊ะหมู่บูชาแบบต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึง 100 โต๊ะ และรูปแบบการจัดดังกล่าวได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง มีการจัดโต๊ะหมู่บูชาขึ้นเป็นพิเศษในสถานที่ราชการ องค์การและสโมสรทั่วไป

ขณะเดียวกัน พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น ก็สนับสนุนนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยให้จัดโต๊ะหมู่บูชาในหน่วยงานและสถานศึกษาด้วย รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการตั้งเสาประดับธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์เข้าไว้ในโต๊ะหมู่บูชาในพิธีการต่าง ๆ ที่ราชการจัดขึ้น

เดิมทีมีการกราบบูชาพระรัตนตรัยอย่างเดียว พลเอกมังกร เห็นว่าเมื่อเคารพพระรัตนตรัย (ศาสนา) แล้ว ควรจะได้มีการเคารพธงชาติ (ชาติ) และพระมหากษัตริย์ด้วย เมื่อมีการกราบพระรัตนตรัยแล้ว ก็มีการคำนับธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย

ต่อมาได้มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองวันชาติไทย การเคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ จึงเปลี่ยนเป็นการคำนับเพื่อแสดงความเคารพเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องคำนับ 2 ครั้ง ดังแต่ก่อน เพราะถือว่าพระมหากษัตริย์และชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปัจจุบันในพิธีเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ในพระราชพิธี รัฐพิธี หรือราษฎร์พิธี ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคลก็นิยมตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั้งสิ้น จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชาซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะถือเป็นคตินิยมของชาวพุทธตั้งแต่สมัยพุทธกาลว่า เมื่อพุทธศาสนิกชนต้องการบำเพ็ญกุศลใด ๆ นิยมนิมนต์พระสงฆ์ ซึ่งมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขมาในงานนั้น ๆ ด้วยเพื่อให้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ พร้อมบริบูรณ์ คตินิยมนี้จึงถือต่อเนื่องสืบมา

ดังนั้น ศาสนาพิธีทางพระพุทธศาสนาจึงนิยมอัญเชิญพระพุทธรูปเป็นนิมิตแทนองค์พระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ในพิธีด้วย

การจัดโต๊ะหมู่บูชา มีหลายโอกาส อาทิ การจัดโต๊ะหมู่บูชาประจำหน้าพระประธาน การจัดในพิธีสงฆ์ การจัดในการประชุม อบรม สัมมนา เป็นต้น โดยทั่วไปนิยมตั้งโต๊ะหมู่บูชาใน 2 กรณี คือ

  1. ในพิธีทางพุทธศาสนา เช่น การทำบุญ ฟังเทศน์ ฯลฯ
  2. ในพิธีถวายพระพรหรือตั้งรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การจัดโต๊ะหมู่บูชา โดยเฉพาะเครื่องบูชาบนโต๊ะ อันได้แก่ พานพุ่ม แจกันดอกไม้ กระถางธูป เชิงเทียน ถือ ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ผู้จัดควรทำด้วยความประณีตบรรจง เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อพระรัตนตรัยและยังเป็นการแสดงออกถึงศิลปะในการจัดอีกด้วย

การจุดธูป 3 ดอก เป็นการบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ

  • บูชาพระปัญญาคุณ
  • บูชาพระวิสุทธิคุณ
  • บูชาพระมหากรุณาธิคุณ

การจุดเทียน 2 เล่ม เป็นการบูชาพระธรรมและพระวินัย เล่มขวาของพระพุทธรูปหรือด้านซ้ายของผู้จุดเป็นเทียนพระธรรม เล่มซ้ายของพระพุทธรูปหรือด้านขวาของผู้จุดเป็นเทียนพระวินัย

หลักเกณฑ์และวิธีการจัดโต๊ะหมู่บูชา

การจัดโต๊ะหมู่บูชามีหลายแบบ ที่สำคัญคือ การตั้งเครื่องบูชาทุกชนิด จะต้องไม่สูงกว่าพระพุทธรูปที่ประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชาที่อยู่สูงสุด ส่วนปริมาณเครื่องบูชาอาจแตกต่างกันตามประเภทของโต๊ะหมู่ซึ่งมีหลายแบบ เช่น โต๊ะหมู่ 4, หมู่ 5, หมู่ 7, หมู่ 9 และหมู่ 15 เป็นต้น แต่ละแบบก็จะมีการจัดและความหมายแฝงอยู่ ซึ่งจะขอยกเป็นตัวอย่างการจัดโต๊ะหมู่บูชาที่เป็นที่นิยมจัดกันทั่วไป ดังนี้

โต๊ะหมู่ 5 ประกอบด้วย กระถางธูป 1 กระถาง, เชิงเทียน 3 หรือ 4 คู่, พานดอกไม้ 5, แจกัน 2 คู่

ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมาย ดังนี้

  • กระถางธูป 1 กระถาง หมายถึง เอกกัคคตา คือ จิตเป็นหนึ่งเดียว หรือ บริสุทธ์ หรือ อุเบกขา
  • แจกันดอกไม้ 4 ชุด หมายถึง อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
  • พานพุ่มดอกไม้ 5 พาน หมายถึง ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
  • เชิงเทียน 6 อัน (3 คู่) หมายถึง อายตนภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
  • เชิงเทียน 8 อัน (4 คู่) หมายถึง อริยมรรค มีองค์ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

โต๊ะหมู่ 7 ประกอบด้วย กระถางธูป 1 กระถาง, เชิงเทียน 4 หรือ 5 คู่, พานดอกไม้ 5, แจกัน 2 คู่, เชิงเทียน 10 อัน (5 คู่) หมายถึง ทศบารมี 10 คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา

โต๊ะหมู่ 9 จะประกอบด้วยกระถางธูป 1 กระถาง, เชิงเทียน 6 หรือ 4 คู่, พานดอกไม้ 7 พาน, แจกัน 3 คู่ พานดอกไม้ 7 พาน หมายถึง โพธิ์ฌงค์ 7 คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา เชิงเทียน 12 อัน หมายถึง อาตยภายในและภายนอก คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

อนึ่ง ในพิธีส่วนตัว เช่น ทำบุญอัฐิ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือ ทำบุญใดๆ เฉพาะตน และมีพื้นที่ในการจัดจำกัด หรือ หาโต๊ะหมู่ตามกำหนดไม่ได้ หรือมีทุนทรัพย์จำกัด อาจดัดแปลงเครื่องบูชาและรูปแบบการจัดก็ได้ โดยยึดหลักว่า

  1. พระพุทธรูปต้องอยู่สูงกว่าเครื่องบูชาทุกชนิด
  2. เครื่องบูชาอย่างน้อยที่สุดต้องมีแจกันดอกไม้ 1 คู่ เชิงเทียน 1 คู่ และกระถางธูป 1 กระถาง ส่วนพานดอกไม้จะมีหรือไม่ก็ได้

โดยปกติ การตั้งโต๊ะหมู่บูชาที่มีเฉพาะพระพุทธรูป (ไม่มีธงชาติหรือพระบรมฉายาลักษณ์) จะมี 3 ลักษณะ คือ

  1. งานพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เป็นประธานหรือโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์มางาน เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ฯลฯ
  2. งานศาสนพิธีวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา ฯลฯ
  3. งานพิธีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น พิธีวางศิลาฤกษ์ เปิดอาคาร งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ

ส่วนการตั้งโต๊ะหมู่บูชาในบางพิธีของทางราชการ เช่น การอบรม ประชุม สัมมนา ฯลฯ นิยมตั้งธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับโต๊ะหมู่บูชาเพื่อให้ครบทั้ง 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยมีหลักคือ โต๊ะหมู่บูชาอยู่ตรงกลาง ธงชาติอยู่ด้านขวาของโต๊ะหมู่ พระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ไว้ทางซ้ายของโต๊ะหมู่สำหรับ การตั้งโต๊ะหมู่ถวายพระพรหรือรับเสด็จ มีหลักว่าไม่ต้องประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ที่โต๊ะหมู่ตัวสูงสุดแทน

โดยมีเครื่องสักการะ คือ แจกัน พานพุ่มดอกไม้ ธูปเทียนแพ (ธูปต้องอยู่ข้างบนเทียน) และ กรวยดอกไม้ มีฝากรวยครอบวางบนธูปเทียนแพ ธูปเทียนแพจะอยู่โต๊ะหมู่ตัวต่ำสุด ปริมาณเครื่องสักการะจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสวยงามและชนิดของโต๊ะหมู่ และการจัดโต๊ะหมู่แบบนี้ไม่ต้องมีเสาธงชาติ และส่วนมากไม่นิยมใช้เชิงเทียนและกระถางธูป หากมีก็ไม่มีการจุดทั้งธูปและเทียน ตั้งเป็นเครื่องประดับโต๊ะหมู่เท่านั้น การปฏิบัติเพื่อถวายสักการะให้ถวายคำนับและเปิดกรวยทีครอบออก จากนั้นถวายคำนับอีกครั้งอนึ่ง งานที่ไม่ต้องตั้งโต๊ะหมู่บูชา ได้แก่ งานประชุมนานาชาติและไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และงานประชุมคณะกรรมการหรืออนุกรรมการต่าง ๆ ตามปกติ


แหล่งข้อมูล

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ข้อมูล., อินเตอร์เน็ต ภาพ.