วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เสียงนางร้องไห้ในวังหลวง


ขบวนนางร้องไห้ในงานพระบรมศพ รัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ณ ท้องสนามหลวง

การแสดงออกซึ่งความโศกเศร้าอาลัย ต่อประยูรยาทที่ล่วงลับไปนั้น นับเป็นการระบายออกมาจากห้วงลึกแห่งความรู้สึกของจิตใจอย่างแท้จริงในรูปของคราบน้ำตา ซึ่งมีอยู่ในตัวของปุถุชนทั่วไปทุกเชื้อชาติศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็มีพิธีกรรมอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งดูเหมือนแปลก แต่เป็นเรื่องจริงที่มีอยู่ในเกือบทุกประเทศนั้น นั่นก็คือการเสแสร้งร้องไห้และรำพึงรำพันต่อการล่วงลับของบุคคลสำคัญในแผ่นดิน เพียงเพื่อแสดงประกอบเกียรติยศตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ดังเช่น ประเพณี "นางร้องไห้" ของไทยที่จะนำเสนอต่อไปนี้

ประเพณีนางร้องไห้ นับเป็นพิธีเก่าแก่ที่ยึดถือปฏิบัติมานานตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณ มีปรากฏให้พบเห็นอยู่ทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย มอญ กรีก โรมัน ออสเตรเลีย และไทย ฯลฯ ท่านพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ไทยคนสำคัญท่านหนึ่งได้กล่าาวถึงเรื่องนางร้องไห้ไว้ตอนหนึ่งว่า...

"โดยธรรมเนียมจีน เวลายกอาหารไปเซ่นศพ พวกลูกหลานจะร้องไห้สะอึกสะอื้นกันเป็นอย่างมาก ปากก็พร่ำรำพันถึงคุณงามความดีของผู้ตายอย่างเรื่อยเจื้อย"เกินกว่าร้องไห้อาลัยรักตามธรรมดา เพราะออกมาพ้นศพแล้วตามที่เคยเห็น ดูก็หายโศกเศร้าได้ทันที ตมธรรมเนียมอาหรับพอสิ้นใจ ตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิงต้องร้องไห้รำพันว่า โอ้...ท่านของฉัน... โอ้...ที่พึ่งของฉัน... โอ้...เป็นเคราะห์กรรมของฉัน... และอะไรอื่นๆ ในอย่างนี้ ต้องร้องไห้อย่างนี้เป็นระยะเวลาตลอดคืน รุ่งขึ้นก็เอาศพไปฝัง ต่อจากวันฝังก็เป็นหน้าที่ของผู้หญิงจะต้องร้องไห้รำพันทุกวันพฤหัสบดีจนกว่าจะครบสามสัปดาห์จึงเลิกร้องไห้

...ประเพณีมอญก็มีพวกรับจ้างร้องไห้ เสียงร้องฟังโหยหวนจนเราอามาตั้งชื่อทำนองเพลงว่า มอญร้องไห้ ที่ต้องร้องไห้เป็นทำนองโอดครวญ เขาอ้างว่า ต้นเหตุมาแต่ครั้งพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงปาฏิหาริย์ให้พระบาททะลุออกมานอกโลง เพื่อให้พระมหากัสสปบูชา ฝ่ายพุทธบริษัทที่มิได้บรรลุพระอรหันต์ผล ร้องไห้กันระงม จึงสืบเป็นประเพณีมา เมื่อบิดามารดาหรือครูบาอาจารย์ตายไป ลูกหลานและศิษย์ต้องไปร้องไห้แสดงกตัญูกตเวที จึงเกิดมีผู้เชียวชาญร้องไห้รำพันรับจ้างร้องเป็นพิเศษ "

ในประเทศอินเดียก็มีผู้หญิงรับจ้างเป็นนางร้องไห้เช่นกัน เมื่อมีผู้ไปว่าจ้างร้องไห้ หญิงเหล่านี้ก็จะสวมใส่เสื้อผ้าฉีกขาด และสยายผมให้ยุ่งเหยิงดูไม่เป็นระเบียบ เมื่อมาถึงก็ห้อมล้อมศพแล้วแสร้งทำร้องไห้โหยหวนครวญครางไปพร้อม ๆ กัน จากนั้นก็รำพึงรำพันถึงความดีของผู้ตาย และแสดงความอาลัยอาวรณ์ในทำนองไม่น่าพลัดพรากด่วนจากไป โดยรำพึงรำพันซ้ำ ๆ อยู่เช่นนี้หลายครั้ง จนกว่าจะยกศพออกไปจึงจะได้รับค่าจ้างเป็นอันเสร็จพิธี ความจริงแล้วการเศร้าโศกร้องไห้ของบรรดาญาติมิตรในครอบครัวถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกเชื้อชาติ แต่ที่เห็นว่าแปลก เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ก็เพราะว่ามีการว่าจ้างเหล่านารีมานั่งร้องไห้รำพึงรำพันเป็นพิธีกรรม

สำหรับประเพณีนางร้องไห้ของไทยนั้น นิยมกระทำกันเฉพาะในหมู่พระราชวงศ์ชั้นสูงระดับพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี พระราชชนนี และพระมหาอุปราช (วังหน้า) ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ดังที่ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งได้ทรงบันทึกการจัดงานพิธีพระศพของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนีในรัชกาลที่ ๓ ไว้ตอนหนึ่งว่า...

"ณ วันพุธ เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ยกพระโกศเสด็จพระยานุมาศตั้งแห่เป็นขนาดกระบวนเครื่องสูง ประดับพร้อมเทวดาประณมมือถือดอกบัว ประณมเรียงเคียงพระโกศ สนั่นโสตสำเนียงเสียงนางร้องไห้ ประสานเสียงกลองประโคมก้องไตรภพ พระศพสมเด็จเสด็จสถิตมหาปราสาท "

นอกจากนี้ในหนังสือพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงกล่าวถึงเพลงกล่อมบทนางร้องไห้ในงานพระบรมศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ไว้ว่า มีนางร้องไห้ร้องกลอม ๕ บท คือ เพลง
๑. พระยอดฟ้าสุเมรุทอง
๒. พระทูลกระหม่อมแก้ว
๓. พระร่มโพธิ์ทอง
๔. พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไป
๕. พระเสด็จสู่สวรรค์ชั้นใด



เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ในรัชกาลที่ ๕

จะสังเกตว่าในรัชกาลต่อๆ มา การขับกล่อมบทนางร้องไห้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้ง ๕ บท เพียงแต่มีการสลับบทร้องเท่านั้น ผู้ที่จะมาขับร้องกล่อมต้องเป็นผู้หญิงล้วนอันได้แก่ เจ้าจอม พระสนม นางกำนัล และผู้ที่ถวายตัว รวมทั้งมีต้นเสียงอีก ๔ คน โดยที่คัดเลือกจากผู้ที่มีน้ำเสียงไพเราะกังวาน เป็นผู้ร้องนำ ดังเช่นที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ในรัชกาลที่ ๕ ได้หวนพิไรรำพันถึงครั้งอดีตในงานพระบรมศพของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ไว้ตอนหนึ่งว่า งานพระบรมศพของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ต้นเสียงร้องมีอยู่ ๔ คน และท่านก็เป็นหนึ่งในจำนวน ๔ คนนั้น เมื่อต้นเสียงร้องแล้ว จะมีลูกคู่หญิงอีกราว ๘๐-๑๐๐ คน ทำหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำๆกันหลายรอบ และจะต้องไปร้องกล่อมที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ตั้งพระบรมศพ เนื้อร้องทั้งหมดมีอยู่ ๕ บทด้วยกัน ดังเช่นในรัชกาลก่อนๆที่ผ่านมา เพียงแต่มีสลับกันในบางบท ดังนี้

๑. พระร่มโพธิ์ทอง      พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

๒. พระเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นใด     ละข้าพระบาทยุคลไว้   พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

๓. พระยอดพระฟ้าสุเมรุทอง     พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

๔. พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด     ข้าพระบาทจะตามเสด็จไป   พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

๕. พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

ภายหลังเสร็จจากงานฉลองขึ้นพระที่นั่งอัมพรสถานในวันเดียวกันนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชทานกำไลทองเป็นของกำนัลพิเศษแก่ท่าน โดยเฉพาะ ที่ตัวกำไลนั้นทรงจารึกคำกลอนพระราชนิพนธ์ไว้อย่างไพเราะและมีความหมายลึกซ้งมาก ปรากฏดังนี้

กำไรมาศชาตินพคุณแท้     ไม่ปรวนแปรเปนอย่างอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที     จะร้ายดีขอให้เห็นเปนเสี่ยงทาย

ตาปูทองสองดอกตอกสลัก     ตรึงความรักรับไว้อย่าได้หาย
แม้นรักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย     เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย ฯ

แหล่งข้อมูล

เว็บไซด์: oursiam.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น