วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การเตรียมตัวก่อนอุปสมบท




การเตรียมตัวก่อนอุปสมบทเป็นพระสงฆ์


การบวชเรียนถือเป็นสิ่งที่ลูกผู้ชายไทย เมื่ออายุครบเกณฑ์แล้วพึงกระทำ เสมือนเป็นการตอบแทนพระคุณบิดามารดา หรือผู้ที่ชุบเลี้ยงเรามา อย่างที่โบราณกล่าวว่า "ถ้าได้บวชลูกชาย พ่อแม่จะสามารถเกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์ได้" ถือเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่

สำหรับผู้ที่ต้องการบวชจะต้องมีการเตรียมตัวก่อน เพื่อให้พิธีในขั้นตอนต่างๆ เสร็จสิ้นได้อย่างสมบูรณ์ ตามพระวินัยบัญญัติไว้ มาดูกันว่าการเตรียมตัวต่างๆ เหล่านั้นมีอะไรกันบ้าง

ฝึกท่องคำขอบรรพชาอุปสมบท (คำขานนาค)

ผู้จะบวชเรียกว่า อุปสัมปทาเปกข์ หรือ นาค ต้องท่อง คำขอบรรพชาอุปสมบทภาษาบาลี หรือ ที่เรียกกันว่า ขานนาค ให้คล่องเพื่อใช้ในพิธี โดยบทขานนาคจะมี 2 แบบ คือ เอเตมะยังภันเต กับ เอสาหังภันเต แล้วแต่วัดที่จะเราจะบวช (ธรรมยุติ หรือ มหานิกาย) ด้วยการหา หนังสือมนต์พิธี หรือ บทสวดมนต์เจ็ดตำนาน มาฝึกท่องจำคำสวดให้ขึ้นใจก่อน แล้วจึงไปฝึกสวดทบทวนกับพระอาจารย์ให้คล่องก่อนทำพิธีบวชอีกที

เตรียมเครื่องอัฏฐบริขารและเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็น

เครื่องอัฏฐบริขาร ได้แก่

  1.  ไตรครอง ได้แก่ สบง 1, ประคตเอว 1, อังสะ 1, จีวร 1, สังฆาฏิ 1, ผ้ารัดอก 1 ผ้ากราบ 1
  2.  บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา ถลกบาตร สายโยค ถุง ตะเคียว
  3.  มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีดโกน
  4.  เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
  5.  เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก)
  6.  เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
  7.  จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ 2 ผืน (ไตรอาศัย)
  8.  ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
  9.  โคมไฟฟ้า หรือตะเกียง ไฟฉาย นาฬิกาปลุก
  10.  สำรับ ปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ
  11.  ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ กาชงน้ำร้อน ถ้วยน้ำร้อน เหยือกน้ำและแก้วน้ำเย็น กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน
  12.  กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย
  13.  ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ
  14.  สันถัต (อาสนะ)
  15.  ฮี๋บไม้หรือกล่องเก็บสำหรับเก็บไตรครอง

หมายเหตุ: ข้อที่ 1-5 เรียกว่าอัฏฐบริขารซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ มีความหมายว่า บริขาร 8 แบ่งเป็นผ้า 5 อย่างคือ สบง 1 ประคตเอว 1 จีวร 1 สังฆาฏิ 1 ผ้ากรองน้ำ 1 และเหล็ก 3 อย่างคือ บาตร 1 มีดโกน 1 เข็มเย็บผ้า 1

เตรียมสิ่งของที่ต้องใช้ในพิธี

สิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ในพิธี ประกอบด้วย

  1.  ไตรแบ่ง ได้แก่ สบง 1 ประคตเอว 1 อังสะ 1 จีวร 1 ผ้ารัดอก 1 ผ้ากราบ 1
  2.  จีวร สบง อังสะ (อาศัยหรือสำรอง) และผ้าอาบ 2 ผืน
  3.  ย่าม ผ้าเช็ดหน้า นาฬิกา
  4.  บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา
  5.  รองเท้า ร่ม
  6.  ที่นอน เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง (อาจอาศัยของวัดก็ได้)
  7.  จานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ปิ่นโต กระโถน
  8.  ขันน้ำ สบู่ กล่องสบู่ แปรง ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
  9.  ธูป เทียน ดอกไม้ (ใช้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย)
  10.  ธูป เทียน ดอกไม้ *(อาจใช้แบบเทียนแพรที่มีกรวยดอกไม้ก็ได้ เอาไว้ถวายพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวช)

หมายเหตุ: อาจจะเตรียมเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์และพระในพิธีนั้นอีกรูปละหนึ่งชุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และศรัทธา

การขอขมาและลาบวช

ก่อนบวชต้องมีการขอขมากรรมกับ พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือ ผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ เพื่อให้ทุกท่านอโหสิกรรมในสิ่งที่เราได้กระทำไว้ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ด้วยการนำ พานธูปเทียนแพร หรือ ดอกไม้ธูปเทียน พร้อมกับกล่าวคำขอขมา เพื่อขออโหสิกรรมและลาบวช ซึ่งจะทำที่วัดหรือไปตามบ้านก็ได้ หลักใหญ่ๆ ของคำกล่าวขอขมาจะกล่าวว่า

"กรรมอันหนึ่งอันใดที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินท่านทั้งทางกาย วาจา ใจ โดยที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจทั้งที่รู้หรือไม่รู้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง โดยประมาทพลาดพลั้งต่อท่าน ขอได้โปรดอโหสิกรรมต่อข้าพเจ้าด้วย "

และ ให้ผู้ใหญ่กล่าวคำอโหสิ 3 ครั้ง

หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่พิธีอุปสมบทจริง กิจกรรมต่างๆ ต่อไป ก็จะขึ้นอยู่กับความจำเป็น และกำลังทรัพย์ เช่น การทำขวัญนาค การบวชนาค และแห่นาคเข้าสู่พระอุโบสถ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

เว็บไซด์ธรรมจักร. ข้อมูล และภาพ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น