วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พานพุ่ม สักการะ




เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พานพุ่ม สักการะ


ความหมาย

พานพุ่ม เป็นการนำคำนาม 2 คำ มาประสมกัน ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2543 ได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

  •  พาน หมายถึง ภาชนะพิเศษชนิดหนึ่ง สำหรับจัดสิ่งของมี ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น แล้วนำไปเป็นเครื่องสักการบูชา พระรัตนตรัย พระมหากษัตริย์ ครู อาจารย์ หรือผู้ที่เคารพนับถือเนื่องในโอกาสต่าง ๆ
  •  พุ่ม หมายถึง ลักษณะกิ่งก้านและใบของต้นไม้ที่รวมกัน หรือดอกไม้ที่นำมาจัดเป็นทรงพุ่ม มีลักษณะอย่างพนมมือ เช่น พุ่มดอกไม้ พุ่มทอง พุ่มเงิน หรือชื่อดอกไม้ไฟอย่างหนึ่ง หรือการนำดอกไม้มาเสียบกับซี่ไม้เป็นชั้นๆ มีลักษณะกลางพองเป็นรูปพุ่ม
  •  ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ คือ การนำข้าวสุกที่บรรจุในกรวยใส่ในพุ่มดอกไม้ ใช้ในการบูชา หรือ การเรียกลายอย่างหนึ่ง ซึ่งมีรูปลักษณ์เหมือนพุ่มข้าวบิณฑ์ บางครั้งเรียก ทรงข้าวบิณฑ์
  •  พานพุ่ม หมายถึง พานที่มีดอกไม้หรือวัสดุซึ่งช่างได้ประดิษฐืเป็นทรงพุ่มแล้วนำมาวางไว้ บนพาน อันถือเป็นเครื่องสักการะหรือบูชาชั้นสูงของไทย ที่ช่างประดิษฐ์ไทยได้นำดอกไม้ หรือ วัสดุต่าง ๆ มาคิดประดิดประดอยจัดทำขึ้น และจัดแต่งเป็นทรงพุ่ม แล้วนำมาวางไว้บนพาน เพื่อนำไปเป็นเครื่องบูชาหรือสักการะสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระรัตนตรัย พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรพบุรุษที่เคารพนับถือ อันเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและความจงรักภักดีในโอกาสต่าง ๆ

ประเภทของพานพุ่ม

พานพุ่มเทียน

1. พานพุ่มเทียน  คือ การนำเทียนไขมาหลอมแล้วเทลงในแบบที่เป็นทรงพุ่ม เมื่อได้รูปร่างเทียนที่เป็นทรงพุ่มแล้ว จะนำมาวางไว้บนพาน เรียกว่า พุ่มเทียน ซึ่งถือเป็นโบราณราชประเพณีที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้สืบสานมาโดยลำดับในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพุ่มเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา ของทุกปี


พานพุ่มดอกบานไม่รู้โรย

2. พานพุ่มดอกไม้สด หรือ พานพุ่มดอกไม้  คือ ช่างประดิษฐ์ดอกไม้ไทยได้นำดอกไม้สดได้แก่ ดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกจำปี ดอกบานไม่รู้โรย หรือ ดอกไม้อื่นๆ มาจัดแต่งเป็นทรงพุ่ม มีลักษณะคล้ายพนมมือ นำมาตั้งไว้บนพาน แล้วนำไปตั้งบูชาพระรัตนตรัย หรือนำไปวางเป็นเครื่อง สักการะ แล้วแต่กรณี


พานพุ่มผ้าตาดทอง ตาดเงิน

3. พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน  คือ การนำผ้าตาดทอง ตาดเงิน เป็นต้น มาประดิษฐ์ แล้วนำมา จัดแต่งประกอบกับวัสดุหรือโฟมเป็นทรงพุ่ม นำมาตั้งไว้บนพาน แล้วนำไปตั้งบูชาพระรัตนตรัย หรือ นำไปวางเป็นเครื่อง สักการะ แล้วแต่กรณี

การวางพานพุ่ม

การตั้งหรือการวางพานพุ่ม มีวัตถุประสงค์ของการตั้งหรือการวาง ๒ ประการ คือ

  1.  การตั้งหรือการวางพานพุ่ม เป็น เครื่องบูชา
  2.  การตั้งหรือการวางพานพุ่ม เป็น เครื่องสักการะ

การตั้งหรือการวางพานพุ่ม เป็น เครื่องบูชา

1. การตั้งหรือการวางพานพุ่มดอกไม้สด หรือดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นเครื่องบูชา ให้ประดิษฐานพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์หรือพระฉายาลักษณ์ ที่โต๊ะหมู่ตัวบน (ตัวสูงสุด) แล้ววาง พานพุ่ม ที่โต๊ะหมู่ตัวรองด้านข้างและด้านหน้าให้ครบจำนวนโต๊ะหมู่ที่ใช้จัดเป็นที่บูชา

2. การตั้งหรือการวาง พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน เป็น เครื่องบูชา ให้จัดตั้งหรือวางพานพุ่มทองไว้ ที่โต๊ะหมู่ตัวรองทางด้านขวาของพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระฉายาลักษณ์ และวางพานพุ่มเงินทางด้านซ้ายของพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระฉายาลักษณ์ โต๊ะหมู่ตัวรองด้านหน้าให้วาง พานพุ่ม ไว้อีก ๑ พุ่ม (ตามความเหมาะสม) ส่วนโต๊ะหมู่ตัวล่าง (ตัวที่ต่ำสุด) ให้วางกระถางธูป และเชิงเทียน หรือ พานกรวยดอกไม้ ธูปเทียนแพ หรือ เครื่องทองน้อย แล้วแต่กรณี

เครื่องทองน้อย

อนึ่ง สำหรับกรณีที่ พานพุ่มมีพู่ ในการวางเป็นเครื่องบูชาให้หันด้านที่เป็นพู่ออกมาทางด้านนอก (โดยให้พู่อยู่ทางด้านผู้วางหรือผู้ตั้ง)

การวางพานพุ่มเป็นเครื่องสักการะ

1. การวาง พานพุ่มดอกไม้สด เป็น เครื่องสักการะ ส่วนมากจะวางเพียง ๑ พาน หรือ ๑ คู่ ตามความเหมาะสม ดังนั้น จะมีการตั้งพานพุ่มบูชาไว้ที่โต๊ะหมู่ตัวรองตัวอื่นๆ ก่อน เพื่อเป็นการประดับให้มีความเรียบร้อยและสวยงาม แล้ว เว้นโต๊ะหมู่ตัวรองที่ตั้งอยู่ด้านหน้าไว้ ๑ คู่ (กรณีวาง พานพุ่มเป็นคู่ แต่ถ้าหากวางพานพุ่มเพียงพานเดียวก็จะเว้นโต๊ะหมู่ตัวรองด้านหน้าให้ว่างไว้) เพื่อเป็นการจัดเตรียมไว้ให้ประธานวางพานพุ่ม ในกรณีที่วางเป็นคู่ให้ประธานวางพานพุ่มทางด้านขวามือ ของประธานก่อน แล้วจึงวางพานพุ่มทางด้านซ้ายมือประธาน ส่วนโต๊ะหมู่ตัวล่าง หรือตัวต่ำสุดให้ตั้ง กระถางธูป เชิงเทียน หรือ พานกรวยดอกไม้ ธูปเทียนแพ หรือ เครื่องทองน้อย

ในกรณีวางพานพุ่มคู่ และให้วางพานพุ่มด้านขวามือของผู้วางก่อน แล้วจึงวางพานพุ่มทางด้านซ้ายมือ เนื่องจากวัฒนธรรมประเพณีของสังคมที่ปฏิบัติสืบสานกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ได้ให้ความสำคัญของการเวียนขวา เช่น เมื่อจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ให้กระทำทักษิณาวรรตก่อน ซึ่งเป็นการ แสดงความเคารพก่อนเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แม้ในปัจจุบันนี้ก็ได้ให้ความสำคัญทางขวามือเป็นหลัก ดังนั้น ในปัจจุบันเมื่อมีกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา ก็จะมีการเวียนเทียนรอบอุโบสถเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธองค์ อันเป็นการแสงความเคารพอย่างสูงสุดของศาสนิกชน

2. การวาง พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน ให้วาง พานพุ่มทอง ไว้ทางด้านขวามือของผู้วางก่อน แล้วจึงวาง พานพุ่มเงิน ทางด้านซ้ายของผู้วางเป็นลำดับต่อมา สำหรับ พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน ที่ใช้วางเป็น เครื่องสักการะ หรือเป็น เครื่องบูชา นั้น ไม่ควรใช้พานพุ่มที่มียอดเป็นฉัตร เนื่องจากฉัตร เป็น สัญลักษณ์ หรือ เครื่องอิสริยยศ ของสถาบันพระมหากษัตริย์

อนึ่ง สำหรับการวางพานพุ่มที่ใช้วางเป็นเครื่องสักการะ หากเป็นพานพุ่มที่มีพู่ ให้วางโดยหันพู่ไปในทิศทางที่ตั้งพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ หรือสิ่งที่ผู้วางต้องการสักการะอันเป็นการแสดงความเคารพ

แหล่งข้อมูล

"เอกสารวิชาการ" เรียบเรียง นายชวลิต ศิริภิรมย์ นักวิชาการศาสนา ๗ ว ฝ่ายพิธี กรมการศาสนา., เว็บไซด์ วิชาการ.คอม. ภาพ "พุ่มเทียน"





วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การจัดโต๊ะหมู่บูชา




การจัดโต๊ะหมู่บูชา


ความเป็นมา

การจัดโต๊ะหมู่บูชา เป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทยมาช้านาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด สันนิษฐานว่าเดิมอาจจะวางสิ่งเคารพ วัตถุมงคลบนหิ้ง หรือ บนแท่นมาก่อน ส่วนการจัดวางบนโต๊ะน่าจะได้แบบอย่างมาจากการตั้งโต๊ะน้ำชาของชาวจีนที่มาค้าขายกับไทยในสมัยก่อน

จากจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2391 ครั้งเมื่อ มีงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ก็มีการเริ่มจัดโต๊ะบูชาเป็นครั้งแรก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทางโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดจัดโต๊ะหมู่บูชาแบบต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึง 100 โต๊ะ และรูปแบบการจัดดังกล่าวได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง มีการจัดโต๊ะหมู่บูชาขึ้นเป็นพิเศษในสถานที่ราชการ องค์การและสโมสรทั่วไป

ขณะเดียวกัน พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น ก็สนับสนุนนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยให้จัดโต๊ะหมู่บูชาในหน่วยงานและสถานศึกษาด้วย รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการตั้งเสาประดับธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์เข้าไว้ในโต๊ะหมู่บูชาในพิธีการต่าง ๆ ที่ราชการจัดขึ้น

เดิมทีมีการกราบบูชาพระรัตนตรัยอย่างเดียว พลเอกมังกร เห็นว่าเมื่อเคารพพระรัตนตรัย (ศาสนา) แล้ว ควรจะได้มีการเคารพธงชาติ (ชาติ) และพระมหากษัตริย์ด้วย เมื่อมีการกราบพระรัตนตรัยแล้ว ก็มีการคำนับธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย

ต่อมาได้มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองวันชาติไทย การเคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ จึงเปลี่ยนเป็นการคำนับเพื่อแสดงความเคารพเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องคำนับ 2 ครั้ง ดังแต่ก่อน เพราะถือว่าพระมหากษัตริย์และชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปัจจุบันในพิธีเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ในพระราชพิธี รัฐพิธี หรือราษฎร์พิธี ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคลก็นิยมตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั้งสิ้น จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชาซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะถือเป็นคตินิยมของชาวพุทธตั้งแต่สมัยพุทธกาลว่า เมื่อพุทธศาสนิกชนต้องการบำเพ็ญกุศลใด ๆ นิยมนิมนต์พระสงฆ์ ซึ่งมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขมาในงานนั้น ๆ ด้วยเพื่อให้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ พร้อมบริบูรณ์ คตินิยมนี้จึงถือต่อเนื่องสืบมา

ดังนั้น ศาสนาพิธีทางพระพุทธศาสนาจึงนิยมอัญเชิญพระพุทธรูปเป็นนิมิตแทนองค์พระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ในพิธีด้วย

การจัดโต๊ะหมู่บูชา มีหลายโอกาส อาทิ การจัดโต๊ะหมู่บูชาประจำหน้าพระประธาน การจัดในพิธีสงฆ์ การจัดในการประชุม อบรม สัมมนา เป็นต้น โดยทั่วไปนิยมตั้งโต๊ะหมู่บูชาใน 2 กรณี คือ

  1. ในพิธีทางพุทธศาสนา เช่น การทำบุญ ฟังเทศน์ ฯลฯ
  2. ในพิธีถวายพระพรหรือตั้งรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การจัดโต๊ะหมู่บูชา โดยเฉพาะเครื่องบูชาบนโต๊ะ อันได้แก่ พานพุ่ม แจกันดอกไม้ กระถางธูป เชิงเทียน ถือ ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ผู้จัดควรทำด้วยความประณีตบรรจง เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อพระรัตนตรัยและยังเป็นการแสดงออกถึงศิลปะในการจัดอีกด้วย

การจุดธูป 3 ดอก เป็นการบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ

  • บูชาพระปัญญาคุณ
  • บูชาพระวิสุทธิคุณ
  • บูชาพระมหากรุณาธิคุณ

การจุดเทียน 2 เล่ม เป็นการบูชาพระธรรมและพระวินัย เล่มขวาของพระพุทธรูปหรือด้านซ้ายของผู้จุดเป็นเทียนพระธรรม เล่มซ้ายของพระพุทธรูปหรือด้านขวาของผู้จุดเป็นเทียนพระวินัย

หลักเกณฑ์และวิธีการจัดโต๊ะหมู่บูชา

การจัดโต๊ะหมู่บูชามีหลายแบบ ที่สำคัญคือ การตั้งเครื่องบูชาทุกชนิด จะต้องไม่สูงกว่าพระพุทธรูปที่ประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชาที่อยู่สูงสุด ส่วนปริมาณเครื่องบูชาอาจแตกต่างกันตามประเภทของโต๊ะหมู่ซึ่งมีหลายแบบ เช่น โต๊ะหมู่ 4, หมู่ 5, หมู่ 7, หมู่ 9 และหมู่ 15 เป็นต้น แต่ละแบบก็จะมีการจัดและความหมายแฝงอยู่ ซึ่งจะขอยกเป็นตัวอย่างการจัดโต๊ะหมู่บูชาที่เป็นที่นิยมจัดกันทั่วไป ดังนี้

โต๊ะหมู่ 5 ประกอบด้วย กระถางธูป 1 กระถาง, เชิงเทียน 3 หรือ 4 คู่, พานดอกไม้ 5, แจกัน 2 คู่

ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมาย ดังนี้

  • กระถางธูป 1 กระถาง หมายถึง เอกกัคคตา คือ จิตเป็นหนึ่งเดียว หรือ บริสุทธ์ หรือ อุเบกขา
  • แจกันดอกไม้ 4 ชุด หมายถึง อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
  • พานพุ่มดอกไม้ 5 พาน หมายถึง ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
  • เชิงเทียน 6 อัน (3 คู่) หมายถึง อายตนภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
  • เชิงเทียน 8 อัน (4 คู่) หมายถึง อริยมรรค มีองค์ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

โต๊ะหมู่ 7 ประกอบด้วย กระถางธูป 1 กระถาง, เชิงเทียน 4 หรือ 5 คู่, พานดอกไม้ 5, แจกัน 2 คู่, เชิงเทียน 10 อัน (5 คู่) หมายถึง ทศบารมี 10 คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา

โต๊ะหมู่ 9 จะประกอบด้วยกระถางธูป 1 กระถาง, เชิงเทียน 6 หรือ 4 คู่, พานดอกไม้ 7 พาน, แจกัน 3 คู่ พานดอกไม้ 7 พาน หมายถึง โพธิ์ฌงค์ 7 คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา เชิงเทียน 12 อัน หมายถึง อาตยภายในและภายนอก คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

อนึ่ง ในพิธีส่วนตัว เช่น ทำบุญอัฐิ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือ ทำบุญใดๆ เฉพาะตน และมีพื้นที่ในการจัดจำกัด หรือ หาโต๊ะหมู่ตามกำหนดไม่ได้ หรือมีทุนทรัพย์จำกัด อาจดัดแปลงเครื่องบูชาและรูปแบบการจัดก็ได้ โดยยึดหลักว่า

  1. พระพุทธรูปต้องอยู่สูงกว่าเครื่องบูชาทุกชนิด
  2. เครื่องบูชาอย่างน้อยที่สุดต้องมีแจกันดอกไม้ 1 คู่ เชิงเทียน 1 คู่ และกระถางธูป 1 กระถาง ส่วนพานดอกไม้จะมีหรือไม่ก็ได้

โดยปกติ การตั้งโต๊ะหมู่บูชาที่มีเฉพาะพระพุทธรูป (ไม่มีธงชาติหรือพระบรมฉายาลักษณ์) จะมี 3 ลักษณะ คือ

  1. งานพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เป็นประธานหรือโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์มางาน เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ฯลฯ
  2. งานศาสนพิธีวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา ฯลฯ
  3. งานพิธีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น พิธีวางศิลาฤกษ์ เปิดอาคาร งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ

ส่วนการตั้งโต๊ะหมู่บูชาในบางพิธีของทางราชการ เช่น การอบรม ประชุม สัมมนา ฯลฯ นิยมตั้งธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับโต๊ะหมู่บูชาเพื่อให้ครบทั้ง 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยมีหลักคือ โต๊ะหมู่บูชาอยู่ตรงกลาง ธงชาติอยู่ด้านขวาของโต๊ะหมู่ พระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ไว้ทางซ้ายของโต๊ะหมู่สำหรับ การตั้งโต๊ะหมู่ถวายพระพรหรือรับเสด็จ มีหลักว่าไม่ต้องประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ที่โต๊ะหมู่ตัวสูงสุดแทน

โดยมีเครื่องสักการะ คือ แจกัน พานพุ่มดอกไม้ ธูปเทียนแพ (ธูปต้องอยู่ข้างบนเทียน) และ กรวยดอกไม้ มีฝากรวยครอบวางบนธูปเทียนแพ ธูปเทียนแพจะอยู่โต๊ะหมู่ตัวต่ำสุด ปริมาณเครื่องสักการะจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสวยงามและชนิดของโต๊ะหมู่ และการจัดโต๊ะหมู่แบบนี้ไม่ต้องมีเสาธงชาติ และส่วนมากไม่นิยมใช้เชิงเทียนและกระถางธูป หากมีก็ไม่มีการจุดทั้งธูปและเทียน ตั้งเป็นเครื่องประดับโต๊ะหมู่เท่านั้น การปฏิบัติเพื่อถวายสักการะให้ถวายคำนับและเปิดกรวยทีครอบออก จากนั้นถวายคำนับอีกครั้งอนึ่ง งานที่ไม่ต้องตั้งโต๊ะหมู่บูชา ได้แก่ งานประชุมนานาชาติและไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และงานประชุมคณะกรรมการหรืออนุกรรมการต่าง ๆ ตามปกติ


แหล่งข้อมูล

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ข้อมูล., อินเตอร์เน็ต ภาพ.





วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ลำดับขั้นตอนพิธีการแต่งงาน



สำหรับลำดับขั้นตอนพิธี การแต่งงาน ส่วนใหญ่จะเริ่มตามฤกษ์ยามงามดีของแต่ละคู่ โดยช่วงเช้าจะเป็นช่วงของการจัดพิธีทางศาสนาพุทธ เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นจะเป็นพิธีแห่ขันหมาก ซึ่งมักจะเริ่มในเวลา 09.19 น. หรือ ตามฤกษ์ยามงามดีของแต่ละคู่ ซึ่งถือเป็นเลขที่เป็นมงคลที่สุดในการเริ่ม พิธีการแต่งงาน ที่บ่าวสาวหลายคู่เลือกใช้กัน โดยมีขั้นตอนของพิธีการแต่งงาน 8 ขั้นตอน ดังนี้
  • ขั้นตอนที่ 1  พิธีสงฆ์
  • ขั้นตอนที่ 2  พิธีการตั้งขบวนแห่ขันหมาก แห่ขันหมาก รับขันหมาก
  • ขั้นตอนที่ 3  พิธีกั้นประตู
  • ขั้นตอนที่ 4  พิธีสู่ขอและพิธีนับสินสอด
  • ขั้นตอนที่ 5  พิธีสวมแหวนหมั้น
  • ขั้นตอนที่ 6  พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร
  • ขั้นตอนที่ 7  พิธีรับไหว้
  • ขั้นตอนที่ 8  พิธีส่งตัวเข้าหอ พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน หรือ พิธีปูที่นอน
อย่างไรก็ตาม พิธีเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา เพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวคู่บ่าวสาวเท่านั้น การใช้ชีวิตคู่จำเป็นจะต้องมีอีกหลายสิ่งที่ควรยึดมั่นทั้งความซื่อสัตย์ ความเข้าใจ รวมถึงการให้อภัย ที่จะทำให้ชีวิตคู่ของคุณกลายเป็นครอบครัวที่มีความสุขและสมบูรณ์แบบ

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่:  goo.gl/MhGac7

วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฤกษ์ยาม เกี่ยวกับการแต่งงานไทย


คนไทยเป็นชนชาติหนึ่งที่เชื่อถือเกี่ยวกับเรื่อง ฤกษ์ยาม เคล็ดลาง มาตั้งแต่สมัยโบราณ  โดยเฉพาะการทำพิธีอันเป็นมงคลต่างๆ เช่น การแต่งงาน จะต้องดูฤกษ์ยามกันตั้งแต่ วันที่ส่งเฒ่าแก่ไปเจรจาสู่ขอ วันหมั้น วันทำพิธีมงคลสมรส รวมถึงฤกษ์ยามในการปลูกเรือนหอ ส่งตัวเจ้าสาวและฤกษ์เรียงหมอน ดังจะกล่าวถึงต่อไป

เกี่ยวกับฤกษ์ยามนั้น เริ่มจากวัน คือต้องเป็นวันดี เช่น วันอธิบดี วันธงชัย ส่วนเดือนที่นิยมแต่งงานกัน ได้แก่ เดือน ๖ เดือน ๙ เดือน ๑๐ เดือน ๒ และเดือน ๔ แล้วแต่ความนิยมเชื่อถืออันซึ่งมีคติที่มาหลายนัย...

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่   goo.gl/CvUNus


วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ดอกไม้ และ ผลไม้มงคลในงานแต่งงาน



ฤกษ์ยาม หรือ ของที่เป็นสิริมงคล อยู่คู่กับพิธีหรือประเพณีต่างๆ ของไทยมาอย่างช้านาน ซึ่งความเชื่อส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับความเป็นมงคลก็มาจากชื่อของวัตถุชิ้นนั้นๆ เช่น ดอกรักสื่อถึงความรัก จึงมักจะใช้ในพิธีมงคลสมรส ดอกเข็ม สื่อถึงปัญญาอันแหลมคม จึงมักใช้กันในพิธีไหว้ครู หรือจะเป็นความเชื่ออื่น เช่น นิยมปลูกขนุนไว้ในบ้านเพื่อให้ได้รับการเกื้อหนุนจุนเจือ เป็นต้น นอกจากนี้ความมีสิริมงคลยังรวมไปถึงลักษณะของวัตถุชิ้นนั้นๆ ด้วย เช่น อาหารที่เป็นเส้นที่นิยมทานกับในวันเกิด เพราะเส้นที่ต่อกันยาวหมายถึงอายุที่ยืนยาว หรือผลไม้รสหวานอย่างลำไยอันสื่อถึงความรักที่หวานชื่น จึงนิยมใช้กันในพิธีมงคลสมรส เป็นต้น
ด้วยความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ทำให้พิธีกรรมต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะพิธีอันเป็นมงคล มีการนำสิ่งของที่มีความหมายดีๆ หรือสิ่งของที่มีชื่ออันเป็นสิริมงคลมาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งพิธีมงคลสมรสเป็นพิธีหนึ่งที่มีการใช้ของมงคลต่างๆ มากมายภายในงาน โดยเฉพาะความน่าสนใจของดอกไม้และผลไม้ต่างๆ ที่แฝงความหมายไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

ดอกไม้มงคล ดอกไม้นอกจากนิยมนำมาใช้ประดับในงานแต่งงาน เพื่อให้เกิดความสวยงามแล้ว ยังสื่อถึงความหมายดีๆ อันเป็นมงคลด้วย ดอกไม้มงคลที่นิยมใช้ในงานแต่งงาน มีมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดต่างก็ให้ความหมายอันเป็นมงคลมากมาย...

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ -> goo.gl/PLSHIJ

วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เสียงนางร้องไห้ในวังหลวง


ขบวนนางร้องไห้ในงานพระบรมศพ รัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ณ ท้องสนามหลวง

การแสดงออกซึ่งความโศกเศร้าอาลัย ต่อประยูรยาทที่ล่วงลับไปนั้น นับเป็นการระบายออกมาจากห้วงลึกแห่งความรู้สึกของจิตใจอย่างแท้จริงในรูปของคราบน้ำตา ซึ่งมีอยู่ในตัวของปุถุชนทั่วไปทุกเชื้อชาติศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็มีพิธีกรรมอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งดูเหมือนแปลก แต่เป็นเรื่องจริงที่มีอยู่ในเกือบทุกประเทศนั้น นั่นก็คือการเสแสร้งร้องไห้และรำพึงรำพันต่อการล่วงลับของบุคคลสำคัญในแผ่นดิน เพียงเพื่อแสดงประกอบเกียรติยศตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ดังเช่น ประเพณี "นางร้องไห้" ของไทยที่จะนำเสนอต่อไปนี้

ประเพณีนางร้องไห้ นับเป็นพิธีเก่าแก่ที่ยึดถือปฏิบัติมานานตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณ มีปรากฏให้พบเห็นอยู่ทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย มอญ กรีก โรมัน ออสเตรเลีย และไทย ฯลฯ ท่านพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ไทยคนสำคัญท่านหนึ่งได้กล่าาวถึงเรื่องนางร้องไห้ไว้ตอนหนึ่งว่า...

"โดยธรรมเนียมจีน เวลายกอาหารไปเซ่นศพ พวกลูกหลานจะร้องไห้สะอึกสะอื้นกันเป็นอย่างมาก ปากก็พร่ำรำพันถึงคุณงามความดีของผู้ตายอย่างเรื่อยเจื้อย"เกินกว่าร้องไห้อาลัยรักตามธรรมดา เพราะออกมาพ้นศพแล้วตามที่เคยเห็น ดูก็หายโศกเศร้าได้ทันที ตมธรรมเนียมอาหรับพอสิ้นใจ ตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิงต้องร้องไห้รำพันว่า โอ้...ท่านของฉัน... โอ้...ที่พึ่งของฉัน... โอ้...เป็นเคราะห์กรรมของฉัน... และอะไรอื่นๆ ในอย่างนี้ ต้องร้องไห้อย่างนี้เป็นระยะเวลาตลอดคืน รุ่งขึ้นก็เอาศพไปฝัง ต่อจากวันฝังก็เป็นหน้าที่ของผู้หญิงจะต้องร้องไห้รำพันทุกวันพฤหัสบดีจนกว่าจะครบสามสัปดาห์จึงเลิกร้องไห้

...ประเพณีมอญก็มีพวกรับจ้างร้องไห้ เสียงร้องฟังโหยหวนจนเราอามาตั้งชื่อทำนองเพลงว่า มอญร้องไห้ ที่ต้องร้องไห้เป็นทำนองโอดครวญ เขาอ้างว่า ต้นเหตุมาแต่ครั้งพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงปาฏิหาริย์ให้พระบาททะลุออกมานอกโลง เพื่อให้พระมหากัสสปบูชา ฝ่ายพุทธบริษัทที่มิได้บรรลุพระอรหันต์ผล ร้องไห้กันระงม จึงสืบเป็นประเพณีมา เมื่อบิดามารดาหรือครูบาอาจารย์ตายไป ลูกหลานและศิษย์ต้องไปร้องไห้แสดงกตัญูกตเวที จึงเกิดมีผู้เชียวชาญร้องไห้รำพันรับจ้างร้องเป็นพิเศษ "

ในประเทศอินเดียก็มีผู้หญิงรับจ้างเป็นนางร้องไห้เช่นกัน เมื่อมีผู้ไปว่าจ้างร้องไห้ หญิงเหล่านี้ก็จะสวมใส่เสื้อผ้าฉีกขาด และสยายผมให้ยุ่งเหยิงดูไม่เป็นระเบียบ เมื่อมาถึงก็ห้อมล้อมศพแล้วแสร้งทำร้องไห้โหยหวนครวญครางไปพร้อม ๆ กัน จากนั้นก็รำพึงรำพันถึงความดีของผู้ตาย และแสดงความอาลัยอาวรณ์ในทำนองไม่น่าพลัดพรากด่วนจากไป โดยรำพึงรำพันซ้ำ ๆ อยู่เช่นนี้หลายครั้ง จนกว่าจะยกศพออกไปจึงจะได้รับค่าจ้างเป็นอันเสร็จพิธี ความจริงแล้วการเศร้าโศกร้องไห้ของบรรดาญาติมิตรในครอบครัวถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกเชื้อชาติ แต่ที่เห็นว่าแปลก เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ก็เพราะว่ามีการว่าจ้างเหล่านารีมานั่งร้องไห้รำพึงรำพันเป็นพิธีกรรม

สำหรับประเพณีนางร้องไห้ของไทยนั้น นิยมกระทำกันเฉพาะในหมู่พระราชวงศ์ชั้นสูงระดับพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี พระราชชนนี และพระมหาอุปราช (วังหน้า) ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ดังที่ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งได้ทรงบันทึกการจัดงานพิธีพระศพของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนีในรัชกาลที่ ๓ ไว้ตอนหนึ่งว่า...

"ณ วันพุธ เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ยกพระโกศเสด็จพระยานุมาศตั้งแห่เป็นขนาดกระบวนเครื่องสูง ประดับพร้อมเทวดาประณมมือถือดอกบัว ประณมเรียงเคียงพระโกศ สนั่นโสตสำเนียงเสียงนางร้องไห้ ประสานเสียงกลองประโคมก้องไตรภพ พระศพสมเด็จเสด็จสถิตมหาปราสาท "

นอกจากนี้ในหนังสือพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงกล่าวถึงเพลงกล่อมบทนางร้องไห้ในงานพระบรมศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ไว้ว่า มีนางร้องไห้ร้องกลอม ๕ บท คือ เพลง
๑. พระยอดฟ้าสุเมรุทอง
๒. พระทูลกระหม่อมแก้ว
๓. พระร่มโพธิ์ทอง
๔. พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไป
๕. พระเสด็จสู่สวรรค์ชั้นใด



เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ในรัชกาลที่ ๕

จะสังเกตว่าในรัชกาลต่อๆ มา การขับกล่อมบทนางร้องไห้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้ง ๕ บท เพียงแต่มีการสลับบทร้องเท่านั้น ผู้ที่จะมาขับร้องกล่อมต้องเป็นผู้หญิงล้วนอันได้แก่ เจ้าจอม พระสนม นางกำนัล และผู้ที่ถวายตัว รวมทั้งมีต้นเสียงอีก ๔ คน โดยที่คัดเลือกจากผู้ที่มีน้ำเสียงไพเราะกังวาน เป็นผู้ร้องนำ ดังเช่นที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ในรัชกาลที่ ๕ ได้หวนพิไรรำพันถึงครั้งอดีตในงานพระบรมศพของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ไว้ตอนหนึ่งว่า งานพระบรมศพของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ต้นเสียงร้องมีอยู่ ๔ คน และท่านก็เป็นหนึ่งในจำนวน ๔ คนนั้น เมื่อต้นเสียงร้องแล้ว จะมีลูกคู่หญิงอีกราว ๘๐-๑๐๐ คน ทำหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำๆกันหลายรอบ และจะต้องไปร้องกล่อมที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ตั้งพระบรมศพ เนื้อร้องทั้งหมดมีอยู่ ๕ บทด้วยกัน ดังเช่นในรัชกาลก่อนๆที่ผ่านมา เพียงแต่มีสลับกันในบางบท ดังนี้

๑. พระร่มโพธิ์ทอง      พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

๒. พระเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นใด     ละข้าพระบาทยุคลไว้   พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

๓. พระยอดพระฟ้าสุเมรุทอง     พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

๔. พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด     ข้าพระบาทจะตามเสด็จไป   พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

๕. พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูนกระหม่อมแก้ว     พระพุทธเจ้าข้าเอย

ภายหลังเสร็จจากงานฉลองขึ้นพระที่นั่งอัมพรสถานในวันเดียวกันนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชทานกำไลทองเป็นของกำนัลพิเศษแก่ท่าน โดยเฉพาะ ที่ตัวกำไลนั้นทรงจารึกคำกลอนพระราชนิพนธ์ไว้อย่างไพเราะและมีความหมายลึกซ้งมาก ปรากฏดังนี้

กำไรมาศชาตินพคุณแท้     ไม่ปรวนแปรเปนอย่างอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที     จะร้ายดีขอให้เห็นเปนเสี่ยงทาย

ตาปูทองสองดอกตอกสลัก     ตรึงความรักรับไว้อย่าได้หาย
แม้นรักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย     เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย ฯ

แหล่งข้อมูล

เว็บไซด์: oursiam.net

ประเพณีการแต่งงานไทย



คนไทยถือว่าการแต่งงานต้องได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายและการ ที่จะไปขอลูกสาวใครแต่งงานต้องให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงยินยอม จึงต้องมีการทาบทาม สู่ขอ และหมั้นหมายกันไว้ก่อนที่จะมีการแต่งงานเกิด

เฒ่าแก่ทาบทาม
ในสมัยก่อนผู้หญิงผู้ชายไม่มีโอกาสคบหากันอย่างอิสระอย่างสมัยนี้ เมื่อชายต้องการแต่งงานกับลูกสาวบ้านไหนจึงต้องแต่งผู้ใหญ่ไปทาบทาม หากฝ่ายหญิงมีท่าทีไม่ไม่รังเกียจจึจะจัดผู้ใหญ่ไปสู่ขออีกครั้ง ในขั้นตอนนี้ฝ่ายหญิงอาจจะขอวันเดือนปีเกิดฝ่ายชายไปตรวจดู ถ้าไม่อยากสานสัมพันธ์กับฝ่ายขายด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะได้มีข้ออ้างว่าดวงไม่สมพงษ์กัน

ฤกษ์ยาม
ฤกษ์ยามที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานนี้มีตั้งแต่ฤกษ์ยก ขันหมาก สู่ขอ ฤกษ์หมั้น ฤกษ์รดน้ำ ส่งตัวและฤกษ์เรียงหมอนการหาฤกษ์จะดูทั้งวัน เดือน ปีที่สมพงษ์กับคู่แต่งงาน คนไทยนิยมแต่งงานเดือนคู่ตามปฏิทินจันทรคติ ยกเว้นเดือนสิบสองเพราะถือว่าเป็นฤดูที่สัตว์มีคู่ วันสิบสองค่ำทั้งข้างขึ้นข้างแรมโบราณห้ามแต่งเพราะถือว่าเป็น "วันจม" วันอังคารและวันเสาร์ถือว่าเป็น "วันแรง" วันพุธก็เป็นวันสุนัขนามไม่ดี วันพฤหัสบดีไม่เหมาะอีกเพราะในตำนานฮินดูนั้นลูกสาวพระพฤหัสบดีแต่งงานไป แล้วมีชู้ วันที่เหมาะจะแต่งงานคือวันศุกร์ เพราะมีเสียงพ้องกับ "สุข"
และถ้าได้วันที่เป็นอธิบดีและวันธงชัยก็ยิ่งดี แต่วันที่ดีเลิศนั้นมีไม่กี่วันในหนึ่งปี คู่ที่ไม่อยากรอนานจึงถือเอา "ฤกษ์สะดวก" คือ ปลอดจากฤกษ์ไม่ดีทั้งหลายเป็นพอ

สินสอด-ทองหมั้น
เมื่อสองฝ่ายเห็นชอบกันว่ามีการแต่งงานเกิดขึ้น ฝ่ายชายจะแต่งเฒ่าแก่สู่ขอไปเจรจากับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงถึงเรื่องสินสอดทอง หมั้นและกำหนดวันแต่งงาน สมัยก่อนผู้ชายเป็นผู้ปลูกเรือนหอบนที่ของฝ่ายหญิงตามธรรมเนียม "แต่งเขยเข้าบ้าน" ก็จะมีการตกลงเรื่องนี้กันด้วย

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ goo.gl/PLSHIJ